ครม.เห็นชอบ10มาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566

        ครม.เห็นชอบ10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
        น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 มีมติรับทราบและเห็นชอบมาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชนหรือผู้ได้รับผลกระทบ ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. เสนอ โดยโครงการดังกล่าวมี สาระสำคัญ แบ่งออกเป็น  3 ด้าน  คือ ด้านน้ำต้นทุน ด้านความต้องการใช้น้ำ  และด้านการบริหารจัดการ จำนวน 10 มาตรการ ดังนี้ 
1. ด้านน้ำต้นทุน ประกอบด้วย  3 มาตรการ 
(1.) เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท โดยเร่งเก็บน้ำ สูบทอยน้ำ คือการสูบน้ำเป็นทอด ๆ จากแหล่งน้ำไปสู่พื้นที่เป้าหมาย ส่วนเกินในช่วงปลายฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง 
(2.) เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผน เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอดฤดูแล้ง
(3.) ปฏิบัติการเติมน้ำ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวง รองรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และแผนปฏิบัติการ และปฏิบัติการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่มีศักยภาพ

2. ด้านความต้องการใช้น้ำ ประกอบด้วย 4 มาตรการ 
(1.) กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนให้เป็นไปตามแผนและมีประสิทธิภาพ 
(2.) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร โดยส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชเพื่อลดการใช้น้ำ และนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการน้ำ
(3.) เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง โดยการสนับสนุนจัดสรรน้ำเตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี) และจัดทำแผนการรับน้ำเข้า-ออกพื้นที่ลุ่มต่ำในการเพาะปลูกพืชและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
(4.) เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสายรอง รวมถึง แหล่งน้ำที่รับน้ำจากภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และชุมชน รวมทั้งเตรียมแผนปฏิบัติการรองรับกรณีเกิดปัญหาและแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ 

3. ด้านการบริหารจัดการ ประกอบด้วย 3 มาตรการ 
(1.) เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำโดยสร้างความรู้ ความเข้าใจในการวางแผน การใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่มีอยู่ และเตรียมจัดหาน้ำสำรอง และกักเก็บให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค

(2.) สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไป ตามแผนที่กำหนด
(3.) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน และหากพบการขาดแคลนน้ำหรือภัยแล้งให้รายงานมายัง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติและ กนช. รวมทั้งประเมินผล การดำเนินงานตามมาตรการ พร้อมสรุปบทเรียน
        น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ในส่วนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับ สถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566  ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำหรือพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือสทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดในพื้นที่ทั่วประเทศหรือจำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาโดยเร่งด่วน เช่น ปรับปรุง/ซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้งาน ก่อสร้าง ปรับปรุงบ่อน้ำบาดาลและระบบประปา เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ให้แก่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำหรือพื้นที่ใกล้เคียง ในระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เช่น ปรับปรุง/ซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้งาน ก่อสร้าง ปรับปรุงบ่อน้ำบาดาลและระบบประปา เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ให้แก่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำหรือพื้นที่ใกล้เคียง
ข่าว : #สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา #มาตรการฤดูแล้ง #NNT #สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ #10มาตรการ 
เว็บไซต์ : https://ayutthaya.prd.go.th/
 


image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
แสดงความคิดเห็น
image
ความคิดเห็น